แพทยศาสตร์ศึกษาเข้มแข็ง: แกร่งที่ฐาน แรงที่การสานต่อ
พรทิพย์ กาญจนนิยต
นพรัตน์ ประสาทเขตการณ์
“ในชีวิตนี้ เราชอบใจอะไรบ้างในการเป็นแพทย์”
บ่ายวันหนึ่งท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ “อาจารย์หมออาวุธ” ได้เล่าให้ฟังว่า ถ้าถามท่านถึงคำถามนี้ ท่านจะนึกขึ้นมาได้ทันทีและยังคงจำได้ไม่ลืม เรื่องที่รักษาเด็กอายุขวบกว่าซึ่งป่วยเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมัยนั้นท่านเพิ่งเป็นแพทย์ประจำบ้าน และเป็นช่วงเดียวกันกับการเริ่มนำยาเพนิซิลินเข้ามาใช้ในการรักษาโรค ต้องฉีดยาตัวนี้ให้เด็กทุก 3 ชั่วโมงและทุกครั้งที่ฉีดยา เด็กจะโวยวายและแสดงอาการก้าวร้าวใส่หมอตลอดเวลา
จากตึกคนไข้ไปยังที่พักของแพทย์ค่อนข้างห่างกันมาก และที่ตึกคนไข้ท่านต้องเดินขึ้นไปชั้นบนอีก หลังจากปฏิบัติภารกิจเป็นเวลาสองวันครึ่ง เช้าวันที่สามเมื่อท่านไปฉีดยาให้คนไข้ตามปกติ พอเด็กน้อยคนนั้นซึ่งยืนเกาะเตียงอยู่เห็นหน้าท่านก็เรียก “หมอ..หมอ” และยิ้มให้ อาจารย์หมออาวุธเล่าว่า ท่านเห็นแล้วดีใจมากเพราะรู้ว่าเด็กสบายดีขึ้นมากแล้ว จึงเปลี่ยนพฤติกรรมจากความก้าวร้าวมาเป็นมิตร แถมยังจำหมอที่มาฉีดยาให้ตนเองได้อย่างแม่นยำเสียด้วย
นี่คือตัวอย่างหนึ่งของรางวัลทางใจที่หนุนให้ “ต่อมอยากเขียน” ของผู้เขียนเต้นตึ้กๆ ขึ้นมาอย่างมากอีกครั้ง เพราะเมื่อฟังอาจารย์หมออาวุธเล่าเรื่องนี้แล้ว ทำให้ซาบซึ้งกับคุณค่าของการเป็นแพทย์มากยิ่งขึ้น เพราะรู้ว่าคุณค่าทางใจอย่างนี้ไม่สามารถซื้อหาได้ด้วยเงินทอง ทำให้ผู้เขียนถามอาจารย์หมออาวุธต่อไปอีกว่า ทำอย่างไรจึงสามารถกระตุ้นให้คณะแพทยศาสตร์ต่างๆพัฒนาต่ออย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อ ให้ผลิตแพทย์ที่เก่งทั้งวิชาการและ “มีใจ” ให้กับวิชาชีพอย่างเต็มที่ เพราะเรื่องการสร้างคนใช่ว่าจะเนรมิตให้มีคุณภาพได้ในชั่วข้ามปี ทั้งการพัฒนาให้มีคุณภาพต่อเนื่อง คงต้องอาศัยพลังร่วมมากมาย…..แล้วผู้เขียนก็ได้คำตอบ
จุดเริ่มของพระปณิธาน : ฐานที่แกร่งของแพทยศาสตร์ศึกษา
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “องค์บิดาแห่งการแพทย์ของไทย” เมื่อครั้งกลับจากการเป็นนายทหารเรือที่ประเทศเยอรมนี ทรงมีพระดำรัสว่า “…รู้สึกสลดใจว่าตั้งแต่หม่อมฉันเกิดมาเห็นแต่เสด็จแม่ทรงเป็นทุกข์โศก ไม่มีอะไรที่จะทำให้ชื่นพระหฤทัยเสียเลย สงสารเสด็จแม่ จึงคิดว่าลูกผู้ชายของท่านก็เหลืออยู่แต่หม่อมฉันคนเดียว ควรจะสนองพระคุณด้วยทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เสด็จแม่ทรงยินดีด้วยเห็นลูกสามารถทำความดี ให้เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองได้…..…จึงคิดว่าการช่วยชีวิตผู้คนพลเมืองเป็นการสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งหม่อมฉันอาจจะทำได้โดยลำพังตัวเพราะทรัพย์สินส่วนตัวก็มีพอจะเลี้ยงชีวิตแล้ว จะสละเงินที่ได้รับพระราชทานในส่วนที่เป็นเจ้าฟ้าเอามาใช้เป็นทุนทำการตามความคิดให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง……”
ด้วยความผูกพันที่พระองค์ท่านที่มีต่อพระชนนี จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่นับเป็นบุญของประชาชนชาวไทยทั่วหล้าที่พระองค์ท่านมีพระปณิธานที่จะทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง ที่สำคัญต่อจากนั้นก็คือ จากพระปณิธานดังกล่าว พระองค์ท่านได้ตัดสินพระทัยศึกษาวิชาแพทย์
“…ฉันจะไปเรียนหมอละ เพราะว่าเป็นวิชาที่สนุกดี เรามีโอกาสได้รักษาคนได้ ทั้งคนจน คนมั่งมี และเจ้านายต่าง ๆ ได้เต็มที่ หมอทำกุศลในการรักษาพยาบาลได้ดี…”
ภายหลังสำเร็จทางการศึกษาทางการแพทย์ พระองค์ท่านได้ทรงจัดตั้งกองทุนเพื่อการค้นคว้าวิจัยและการสอนในโรงพยาบาลศิริราชโดยทรงเจรจาตกลงกับมูลนิธิรอกกีเฟลเลอร์ (Rockefeller) ในปี พ.ศ.2464ซึ่งพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ แต่ขอให้รัฐบาลปรับเงื่อนไขบางประการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แพทย์ที่สำเร็จการศึกษาแล้วเป็นแพทย์ที่มีคุณภาพ ดังนี้
- ปรับระดับวุฒิการศึกษาจากประกาศนียบัตรทางการแพทย์เป็นปริญญาทางการแพทย์
- กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าศึกษาทางการแพทย์ว่าต้องจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ซึ่งจากเงื่อนไขนี้ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องปรับให้มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 8 ขึ้น
- ปรับเงินเดือนแพทย์จาก 80 บาท เป็น 160 – 240 บาท
- จัดทำหลักสูตรเตรียมแพทย์ โดยแบ่งเป็น 2 ปี และ 4 ปี
- จัดหาศาสตราจารย์ทางการแพทย์ในต่างประเทศเข้ามาช่วยสอน
- ส่งคนไทยไปศึกษาในต่างประเทศเพื่อกลับมารับงานต่อ
- จัดให้มีการศึกษาหลังปริญญา
- จัดให้มีคณบดี
นอกจากทุนดังกล่าวแล้ว พระองค์ท่านยังได้ทรงจัดตั้งทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ขึ้น เพื่อส่งนักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศ โดยให้เรียนตามความสามารถ แต่ต้องเรียนดี เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาจะต้องหางานทำเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อคนเหล่านี้จบกลับมา รัฐบาลก็มักจะดึงตัวไปทำงานด้วยเป็นส่วนใหญ่
พระองค์ท่านยังทรงเน้นย้ำถึงการพัฒนาคุณภาพของผู้เป็นแพทย์อย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏพระดำรัสที่สำคัญความว่า “…การที่เรียนจบหลักสูตรวิชาแพทย์นั้นไม่ได้หมายความว่านักเรียนผู้นั้นได้เรียนรู้การแพทย์ทั้งหมดแล้ว แต่เป็นการตรงกันข้าม การที่เรียนจบนั้นเป็นแต่เพียงขั้นหนึ่งของวิชาการศึกษาทางแพทย์คือว่าความจริงนักเรียนผู้นั้นได้เรียนจบตามตำรา และบัดนี้เป็นผู้ที่สมควรและสามารถจะรับผิดชอบในการเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนที่ไม่สมบูรณ์ โดยวิธีการทำจริงและโดยลำพังตนเองได้เท่านั้น เป็นการเรียนวิชาการแพทย์ต่อ แต่เป็นโดยวิธีที่ต่างกับวิธีเดิมบ้างเล็กน้อย จะเป็นแพทย์ที่ดีต่อไปในภายหน้าไม่ได้ นอกจากแพทย์ผู้นั้นเมื่อสำเร็จวิชามาใหม่ๆ จะรู้สึกพบว่าตนจะต้องยังคงเป็นนักเรียนอยู่ต่อไปอีกตลอดเวลาที่ทำการแพทย์นั้น…”
38 ปี ของพระองค์ท่านจึงถือได้ว่าเป็นการวางฐานรากทางการแพทย์ที่สร้างจากพระปณิธานของพระองค์อย่างแท้จริง ซึ่งทรงสานต่อด้วยความริเริ่มอย่างเป็นรูปธรรมที่เน้นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำให้เกิดพลังในการสานต่อคุณภาพของแพทยศาสตร์ศึกษาตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน
แพทยศาสตร์ศึกษาในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2495 - ปัจจุบัน
หน้าที่หลักที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของการเป็นแพทย์คือ การรักษาชีวิตคนไข้ให้หายหรืออย่างน้อยที่สุดมีอาการทุเลาลงจากโรคที่รุมเร้า ผู้เป็นแพทย์จึงจำเป็นต้องได้รับการเรียนรู้ ฝึกฝนและพัฒนาอย่างใกล้ชิด และด้วยความที่เนื้อหาสาระที่มีอยู่มากมาย ทำให้เกิดความท้าทายต่อการจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์เป็นอย่างมาก กาลสมัยก็มีส่วนทำให้ต้องวางระบบบริหารจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างออกไปเช่นกัน
อาจารย์หมออาวุธเล่าว่า สมัยก่อนต้องใช้ “ความเป็นแพทย์จริงๆ รักษาคนไข้” ซึ่งหมายถึง การรักษาด้วยความรู้ รู้ว่าจะใช้วิธีอะไร ซึ่งจะใช้วิธีการซักประวัติและตรวจร่างกาย (ดู คลำ เคาะ ฟัง) เป็นสำคัญ แต่ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ห้องปฏิบัติการจึงมีอิทธิพลต่อการตรวจโรคมากขึ้น ทำให้แพทย์ในปัจจุบันพึ่งพาผลที่ได้จากห้องปฏิบัติการและเครื่องมือมากกว่าการพัฒนาความสามารถส่วนบุคคลเช่นแพทย์ในอดีต
ปัจจุบัน หากไม่มีห้องปฏิบัติการแพทย์จะทำงานยากมาก แม้แต่เรื่องการฉีดยาหรือเจาะเลือดได้กลายเป็นงานของพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล แพทย์จึงไม่ได้มีการฝึกหัดทักษะทางด้านนี้มากพอ ต่างกับสมัยก่อนซึ่งมีเครื่องมือที่จะช่วยทางการแพทย์น้อย ทำให้หมอต้องเก่งด้วยตัวเองให้มากที่สุด
เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงแพทยศาสตร์ศึกษาจึงต้องมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย การศึกษาแพทย์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามากประกอบด้วยจำนวนผู้เรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงต้องนำรูปแบบการจัดการเรียนการสอนสมัยใหม่เข้ามาช่วยให้มีความหลากหลาย มีการสอนจากประสบการณ์จริง ให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามวิธีการของตนเอง การจัดการเรียนการสอนแบบกลุ่มย่อย อาจารย์กับลูกศิษย์ปฏิสัมพันธ์โดยตรง ทั้งยังมีการนำวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem – based Learning) วิธีอ้างอิงหลักฐานที่ชัดเจน รวมทั้งการใช้ชุมชนเป็นฐานของการจัดการเรียนการสอนอีกด้วย
ด้วยศาสตร์ของวิชาแพทย์เองและด้วยศิลปะของวิธีการปฏิบัติต่อคนไข้ ทำให้การจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ซึ่งมุ่งหวังว่า ลูกศิษย์จะต้องรู้อย่างน้อยเท่าอาจารย์ ต้องมีความทันสมัยและยืดหยุ่นพอที่จะปรับเปลี่ยนให้เอื้อต่อการเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ได้ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในวงการแพทยศาสตร์ศึกษาจำเป็นต้องก้าวให้ทันกับวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ และนำวิธีการที่หลากหลายเข้ามาปฏิบัติจริงเพื่อให้สามารถเลือกวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในขณะนั้นๆ มาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้แน่ใจได้ในระดับหนึ่งว่า ได้มีการพัฒนาคุณภาพให้สอดรับกับวิทยาการที่ทันสมัย เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในเวลานั้นๆ อย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
นอกจากนี้ เนื้อหาสาระของวิชาแพทย์ที่เพิ่มขึ้นและซับซ้อนขึ้น วิธีการถ่ายทอดวิชาความรู้ของแพทยศาสตร์จึงต้องเน้นเสมอว่า จะต้องทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ต่อเนื่องได้ด้วยตนเองจนติดเป็นนิสัย ดังนั้น จึงมีการนำวิทยาการและวิธีการเรียนการสอนต่างๆ เข้ามาใช้ เช่น
1. เทคโนโลยีและสื่อการเรียนการสอน
จากอดีตที่มีเพียงกระดานดำและชอล์ก ที่ไหนมีการใช้สไลด์ถือว่าทันสมัยมาก ปัจจุบันเทคโนโลยีที่จะสามารถนำมาใช้ในการศึกษาแพทยศาสตร์มีอยู่หลากหลาย แพทยศาสตร์ศึกษาจึงมักจะล้ำหน้านำยุคเสมอ จนถ้าที่ไหนไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์หรือ Visualizer จะถือว่าไม่ได้มาตรฐาน
ด้วยความเป็นแพทย์ที่มีการฝึกฝนให้อยากรู้อยากเรียนอะไรที่เป็นเครื่องหมายคำถาม อยากแก้ปัญหา อยากทำเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องท้าทาย จึงนับว่าเป็นจุดดีของแวดวงแพทยศาสตร์ศึกษาที่จะสนใจลงมือพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้วยตนเอง
2. การเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์เป็นหัวใจหลักของแพทยศาสตร์ศึกษา การจัดการเรียนการสอนจึงต้องเน้นผู้เรียนตลอดเวลา และนำวิธีการที่หลากหลายเพื่อสนองตอบต่อลักษณะของผู้เรียนแตกต่างกัน
3. การประกันคุณภาพ
การประกันคุณภาพเป็นสิ่งที่สำคัญและเหมาะกับวิชาแพทย์มาก เป็นแรงขับเคลื่อนที่สร้างความชัดเจนและทำให้ศาสตร์ของวิชาการแพทย์ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 50 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการพัฒนาด้านเนื้อหาสาระและวิธีการ
หัวใจใฝ่คุณภาพ คือ การไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนา
แม้ว่าโดยพื้นฐานของผู้เข้ามาเรียนแพทย์จะเป็น “ระดับมันสมองชั้นยอด” ของประเทศ แต่การพัฒนาแพทยศาสตร์ศึกษาอย่างต่อเนื่องไม่ใช่การที่คนเก่งๆ มาอยู่ในที่ที่เดียวกันเท่านั้น หากแต่ว่าคนกลุ่มนี้จะต้องมีหัวใจที่ใฝ่คุณภาพที่จะร่วมมือกันเดินหน้าพัฒนาแพทยศาสตร์ศึกษาอย่างไม่หยุดนิ่งด้วย
กลไกสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านวิชาแพทย์ตลอดมาคือ การประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2499 และได้จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องถึง 7 ครั้งแล้ว โดยแต่ละครั้งจะจัดห่างกันประมาณ 7-8 ปี
การประชุมดังกล่าวเป็นการรวบรวมความคิดเห็นของแพทย์ทั่วประเทศและได้นำความคิดเห็นเหล่านั้นมาเป็นข้อชี้แนะว่าแนวทางการศึกษาแพทย์และการบริการสุขภาพควรจะดำเนินไปอย่างไรในทิศทางใด
ในระยะแรกเนื้อหาของการประชุมจะเป็นเรื่องของการปรับปรุงหลักสูตร เพิ่ม-ลดวิชา แต่ต่อมาได้ขยายกรอบออกไปเป็นเรื่องของการจัดการเรียนการสอน การให้บริการสาธารณสุข การกระจายแพทย์ การศึกษาหลังปริญญา โดยยังคงให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องถึงคุณธรรมจริยธรรมในการศึกษาแพทย์และการแพทย์ทุกระดับ การส่งเสริมการวิจัย การส่งเสริมและพัฒนาอาจารย์แพทย์ และการติดตามประเมินผล การประชุมดังกล่าวจึงได้มีแลกเปลี่ยนสาระและข้อคิดเห็นเชิงวิชาการรอบด้านที่เท่าทันต่อยุคสมัยและความก้าวหน้าของโลก ในปัจจุบันจุดเน้นของแพทยศาสตร์ศึกษาจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของสาธารณสุขอีกต่อไป แต่เน้นไปถึงสุขภาพ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ คุณภาพชีวิต เพราะโลกทุกวันนี้ แพทย์ไม่ได้ทำหน้าที่รักษาโรคเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องรู้จักป้องกัน รู้จักบูรณาการให้ทุกอย่างสมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อความอยู่ดีมีสุขด้วย
ประเด็นหลักอีกประเด็นในการพัฒนาแพทยศาสตร์ศึกษา คือ การข้ามเส้นคั่นของ “ศาสตร์” ของตนเองไปสู่การประสานความร่วมมือกับทุกหน่วย / องค์กรที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการจัดประชุมประจำปีอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า การประชุมวิชาการแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งประเทศไทย
การประชุมวิชาการแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งประเทศไทย คือ การจัดเวทีให้กับผู้วิจัยที่ศึกษาทางแพทยศาสตร์ศึกษามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ถึงความก้าวหน้าและแนวโน้มใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น จึงมีการนำผลการวิจัยมาแสดงในที่ประชุมด้วย ซึ่งนับได้ว่าเป็นความพยายามที่จะสนับสนุนให้เกิดศาสตร์ทางด้านนี้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการปรับความถี่ในการจัดประชุมให้เหมาะสมจนในปัจจุบันมีการจัดประชุมฯ ปีละครั้ง ทำให้ได้เนื้อหาสาระที่เข้มข้น
เบื้องหลังความไม่หยุดนิ่ง คือ ความจริงของการสานความร่วมมือ
ผู้เขียนชอบใจการเปรียบเทียบการว่ายน้ำของเป็ดกับการจัดประชุมอย่างมากว่า การประชุมที่ดูแล้วเรียบร้อยไม่ขลุกขลัก เปรียบเสมือนฝูงเป็ดที่เราเห็นในลำน้ำ ซึ่งดูว่าว่ายไปมาอย่างเพลิดเพลิน โดยหลายต่อหลายคนอาจไม่ทราบหรือไม่ได้นึกถึงด้วยซ้ำว่า ภายใต้ความราบรื่นนั้น ขาของเป็ดทุกตัวในฝูงนั้นต้องทำงานอย่างขมีขมันตลอดเวลา
ความก้าวหน้าโดยภาพรวมของแพทยศาสตร์ศึกษาก็เช่นกัน ในขณะที่ผู้ที่อยู่วงนอก (หรือ “วงใน” เองที่ไม่ค่อยยอมเป็น “วงใน”) อาจไม่ทันได้นึกถึง “ขาเป็ด” ที่สานต่อฐานของแพทยศาสตร์ศึกษาเท่าไรนัก คนนอกวงการแพทยศาสตร์ศึกษาอาจไม่ค่อยได้รู้จักกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) กลุ่มสถาบันฯ นี้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2532 โดยในครั้งนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เชิญคณบดีคณะแพทยศาสตร์มาประชุมและเห็นร่วมกันว่าควรเป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนแพทย์ เพื่อเร่งรัดพัฒนาแพทยศาสตร์ศึกษาด้วยกัน
หลังจากนั้นเป็นต้นมา กสพท. จึงได้เข้ามามีบทบาทในการสานต่อความเข้มแข็งของโรงเรียนแพทย์ให้ช่วยเหลือกันมากขึ้น เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้ทุกโรงเรียนได้ก้าวทันกัน แต่ยังทำให้ทุกแห่งได้ก้าวทันพัฒนาการและความเคลื่อนไหวต่างๆ ของโลกอีกด้วย โดยผ่านกิจกรรมหลักๆ ตั้งแต่การประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งชาติและการประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งประเทศไทย จนถึงการประชุมคณบดี(ของทุกโรงเรียนแพทย์) เป็นประจำ ปีละ 4 ครั้ง และการประชุมคณะกรรมการบริหาร กสพท. อีกอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง ไม่นับรวมการประชุม กสพท. เฉพาะกิจอีกต่างหาก
ประเด็นท้าทายของ กสพท. ที่จะทำให้สมาชิกให้และรับประโยชน์จากการรวมกลุ่ม อยู่ที่ความพยายามที่จะทำอย่างไรให้เกิดการยอมรับร่วมกันว่าต้องทำงานด้วยความร่วมมือกัน ต้องแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งความพยายามนี้ทำให้เกิดพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในวงการแพทยศาสตร์ศึกษา ทำให้คณบดีทุกแห่งถือว่าเป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งที่จะต้องเข้าร่วมประชุมอภิปรายถึงการแก้ปัญหา การค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะพัฒนาวิธีและการดำเนินงานด้านคุณภาพของแพทยศาสตร์ศึกษาให้ต่อเนื่องและเข้มแข็งร่วมกัน
จนถึงทุกวันนี้ กสพท. ก็ยังคงทำหน้าที่สานความร่วมมือต่อไป และเมื่อผู้เขียนได้ย้อนอดีตกลับไปดูจุดเน้นของการประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ นับตั้งแต่ครั้งแรกจนปัจจุบันแล้ว เห็นได้ชัดว่า กสพท. ได้เป็นตัวจักรสำคัญทีเดียวที่ทำให้การรวมตัวของโรงเรียนแพทย์มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันที่มุ่งเน้นอนาคตเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องการประกันคุณภาพที่ได้มีการหยิบยกมาอภิปรายตั้งแต่ครั้งแรกๆ ของการประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ และการเกาะติดแนวทางการประกันคุณภาพใหม่ๆ จนถึงการใช้การเทียบเคียงสมรรถนะ (Benchmarking) โดยใช้เกณฑ์บัลดริจในปัจจุบัน
ผลการทำงาน 15 ปีที่ผ่านมา และความไว้วางใจที่แพทยสภาให้ กสพท. เป็นหน่วยรับผิดชอบมาตรฐานของโรงเรียนแพทย์ในด้านหลักสำคัญ วิธีดำเนินการของ กสพท. ในนามของแพทยสภานี้ทำให้เกิดพลังกลุ่มของความร่วมมือที่เหนียวแน่นขึ้น เพราะเกิดการสานต่อทิศทางการดำเนินงาน และด้วยความใกล้ชิดและแบ่งปันความรู้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้มีการเปิดเสรีทางความคิดเพื่อสู่เป้าหมายเดียวกันที่ชัดเจน และยังเอื้อต่อหน่วยงาน / องค์กร โดยไม่ได้เกิดเฉพาะแวดวงแพทย์หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพเท่านั้น จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไมคณะแพทยศาสตร์จึงเป็นแกนสำคัญในการผลักดันการประกันคุณภาพการอุดมศึกษาตั้งแต่เริ่มนโยบายประกันคุณภาพของทบวงมหาวิทยาลัย (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ.2539 ตั้งแต่มีนโยบายดังกล่าวในระดับประเทศ กลุ่มคณะแพทยศาสตร์ได้เข้าร่วมเป็นผู้วางแนวทางการดำเนินงาน เป็นผู้ฝึกอบรมผู้ตรวจสอบคุณภาพ ตลอดจนการเข้าร่วมโครงการนำร่องต่างๆ และได้มาเป็น “ผู้นำ” อีกครั้งในการผลักดันให้โรงเรียนแพทย์เริ่มก้าวสู่เวทีอาเซียนโดยมีการเทียบเคียงสมรรถนะกับโรงเรียนแพทย์ในอีก 3 ประเทศในอาเซียน
หากเป็ดแต่ละตัวเปรียบเสมือนคณะแพทยศาสตร์แต่ละแห่งที่มีฐานที่เข้มแข็ง ทุกแห่งก็คงจะได้เห็น “ขาเป็ด” ที่ขยับด้วยแรงที่อาจจะหนักเบาแตกต่างกัน แต่เมื่อรวมเป็นฝูงแล้ว ต้องมี “ผู้กำกับฝูง” ให้ “ขาเป็ด” ทั้งหลายไปด้วยกัน โดยสนับสนุนให้เป็ดทั้งหลายออกแรงมากขึ้น ที่สำคัญกว่านั้นคือการเสริมแรงให้ขยับเพื่อให้เกิด “ระบำเป็ด” ที่พร้อมเพรียงด้วย “ขาเป็ด” ที่แข็งแรงขึ้นจากการออกกำลังสม่ำเสมอและการกำกับฝูงร่วมกัน เราจะได้เห็นคุณภาพของ “ระบำเป็ด” ที่ยิ่งพร้อมเพรียงและงดงามมากขึ้นอย่างแน่นอน
››››››››››
อ้างอิง
www.fulbrightthai.org/data/knowledge/doctor.doc 31 มค. 51
http://www.thaiclinic.com/edu_foreign_5.html
1ข้อเขียนนี้ได้มาจากการพูดคุยกับศาสตราจารย์นายแพทย์อาวุธ ศรีศุกรี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย รวมทั้งการอ้างอิงจากหนังสือ “มหิตลปูชา” (กรรณิการ์ สัจกุล และคณะ กรุงเทพ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2545)
2ทำให้เริ่มมีแพทย์ปริญญาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก พ.ศ.2465
3 อาจจะเปลี่ยนเป็นการประชุมวิชาการแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งประเทศไทย เพื่อให้สอดรับกับพัฒนาการของศาสตร์ด้านการแพทย์เชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
4เลขาธิการของกลุ่มสถาบันฯ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบันคือ ศาสตราจารย์นายแพทย์อาวุธ ศรีศุกรี
ค่าสมาชิกของ กสพท. 90,000.- บาท/ปี